วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554

เปิดใจ"อภิสิทธิ์"กับศึกรอบทิศ "ไม่จำเป็นต้องไล่กัน เดี๋ยวผมก็ไปอยู่แล้ว


ณัฐพล หวังทรัพย์-จตุพล สันตกิจ

ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังรุมเร้ารัฐบาล ทั้งการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง ต่างพุ่งเป้าไล่รัฐบาล พร้อมกับมีการปล่อยข่าวปฏิวัติ รวมไปถึงปัญหาความตึงเครียดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจประจำทำเนียบรัฐบาลในแต่ละประเด็น ดังนี้

@ ปัญหากัมพูชาจะแก้ไขอย่างไร

เราพยายามทำทุกอย่างไม่ให้ยืดเยื้อ ที่จริงความตึงเครียด 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นปัญหาที่มรดกโลกจุดชนวนขึ้นมาและขณะนี้เราแสดงจุดยืนชัดเจนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบนี้ ทั้งหมดควรให้มรดกโลกคิดได้แล้วว่า พื้นที่นี้ก่อนที่เขาจะเข้ามาก็สงบเรียบร้อยดี วัตถุประสงค์มรดกโลก เพื่อให้คนมีโอกาสชื่นชมในมรดกทางวัฒนธรรม แต่สิ่งที่เขาทำกำลังเกิดผลตรงกันข้าม ใครก็เข้าไปไม่ได้ เพราะเกิดการสู้รบกัน ก็ควรจะหยุดจนกว่าเราจะได้ข้อยุติกับทางกัมพูชากระทรวงการต่างประเทศออกแถลงการณ์ไปรอบหนึ่งแล้ว และมีหนังสือถึงยูเอ็นเอสซีและยูเนสโก และก็คงต้องมีอีก

ส่วนอาเซียนขณะนี้ยังไม่เข้ามาเกี่ยวข้องอะไร และอาเซียนทราบว่าเรามีกลไกสองฝ่าย ที่ต้องคุยกันทั้งเจบีซีและจีบีซี ก็จะเร่งให้เดินหน้าพูดคุย เขาอาจต้องทราบข้อมูล ฉะนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประธานก็คงมารับทราบข้อมูลของทั้งสองฝ่าย

@ ปัญหาการเมืองในประเทศตอนนี้หลายคนกำลังหวั่นไหวที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ออกมา เพราะมักจะไม่จบด้วยดี ท่านนายกฯ รู้สึกหวั่นไหวด้วยหรือไม่

คือ ผมมองประเทศ ผมมองไม่เห็นว่าการปฏิวัติจะช่วยประเทศได้อย่างไรตอนนี้ เพราะปฏิวัติทุกครั้งมีบาดแผลตกค้างทุกครั้ง กระบวนการเสื้อแดงก็ยังเป็นบาดแผลที่ยังไม่จบจากครั้งที่แล้ว ก็ลองไปถามคนที่ต้องทำงานหลังปฏิวัติสิครับ ว่ามันเหนื่อยแค่ไหน เพราะฉะนั้น ผมจึงเข้าใจยากว่าทำไมจึงมีข้อเรียกร้องอย่างนี้ และผมถึงบอกว่าถ้าไม่ชอบรัฐบาลนี้ ก็อีกไม่กี่เดือน ก็จะไปเลือกตั้งกันแล้ว แต่ถ้าคุณไม่เชื่อในกระบวนการเลือกตั้งอีก แล้วคุณเชื่อประชาธิปไตยแบบไหน ถ้าคุณไม่เชื่อประชาธิปไตยอีก ก็ถามว่า คุณจะอยู่ในโลกนี้ ยุคนี้อย่างไร

@ มีคนพูดว่า รัฐประหาร หรือไม่รัฐประหาร อย่างไร นายกฯ ก็จะได้อยู่ในอำนาจต่อไป โดยเอาอำนาจพิเศษมาโยง

ไม่มีหรอกครับ ถ้ามีการรัฐประหาร มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่ผมจะอยู่ในอำนาจ

@ แสดงว่า คนที่ปล่อยข่าวรัฐประหาร เขาไม่อยากให้ท่านเป็นนายกฯแล้ว

แน่นอน มันเป็นไม่ได้ที่จะมารัฐประหารแล้วผมอยู่ในอำนาจ

@ คนที่มีคอนเน็คชั่นพิเศษก็พูดว่า อำนาจพิเศษไม่เอานายกฯ แสดงว่า อำนาจพิเศษที่ไม่เอานายกฯ จริงๆ ท่านนายกฯ เชื่อเรื่องอำนาจพิเศษหรือไม่

ผมว่าบ้านเมืองเรามีระบบชัดเจน ไม่ได้มีอำนาจนอกระบบได้ ทุกอย่างอยู่ในระบบ

@ วันที่นายกฯ ไปเปิดงานวิ่งการกุศลที่เมืองทองธานี แล้วมีคนตะโกนไม่เอานายกฯ ตอนนั้นรู้สึกอย่างไร

ไม่หรอกครับ ธรรมดา คือเวลานี้การปลุกเร้าอารมณ์ โดยเฉพาะเรื่องชาตินิยมมันจะรุนแรง เพราะฉะนั้นอันนี้ก็ต้องเข้าใจได้ แล้วก็เพียงแต่เสียดายว่า การให้ข้อมูลมันต้องระมัดระวัง เพราะว่าการให้ข้อมูลไปแล้ว ไปสู่อะไรต้องรับผิดชอบกันด้วย

@ ดูเหมือนว่า เวลาวิกฤติ ประชาธิปัตย์จะรับมืออยู่คนเดียว พรรคร่วมหายไปไหนหมด

ก็เราเป็นแกนนำ เราก็ต้องรับผิดชอบมาก เป็นธรรมดา

@ ตอนนี้สถานการณ์การเมืองที่กำลังรุมเร้ารัฐบาล ทั้ง การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง ต่างมีข้อเรียกร้องเดียวกัน คือให้รัฐบาลออกไป แถมยังมีการปล่อยข่าวปฏิวัติ รวมไปถึงปัญหาความตึงเครียดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาเข้ามารุมเร้าอีก

ปีนี้รัฐบาล ก็ออกไปอยู่แล้ว ถ้าเป็นข้อเรียกร้องของการที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เราก็ปูทางไปสู่ตรงนั้นอยู่แล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญวันศุกร์ (11 ก.พ.) ก็เสร็จแล้ว เมื่อจังหวะเวลาเหมาะสมก็ไปเลือกตั้งอยู่แล้ว อยากจะบอกว่า มันไม่จำเป็นจะต้องมาไล่อะไรกัน เพราะว่ารัฐบาลบอกอยู่แล้วว่าจะคืนอำนาจประชาชน ก็น่าจะมุ่งไปรอในเรื่องการเลือกตั้งดีกว่า

@ ต้องรอให้ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อน จึงจะยุบสภาใช่หรือไม่

นั่นก็ทำให้ยืดเวลายุบสภาไปอีกสักระยะหนึ่ง ก็ไม่ต้องรอ ถ้าฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจเข้ามา ผมก็ไม่มีอำนาจยุบ

@ เข้าทางรัฐบาลที่จะอยู่ได้อีกระยะหนึ่ง

ไม่หรอกครับ พยายามทำให้เร็ว ยื่นมาก็รีบๆ อภิปรายให้มันจบๆ ไป ก็จะได้ยุบได้

@ ประเมินว่าหลังจากฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเข้ามา 15 วัน ก็สามารถบรรจุเข้าเป็นวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรได้แล้ว

อาจจะเร็วกว่านั้น

@ หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจจบ ต้องรอให้การพิจารณางบประมาณกลางปี 2554 ผ่านก่อนหรือไม่

งบกลางปี 2554 เดือนมี.ค. นี้ ก็เสร็จแล้ว เพราะไม่อย่างนั้นไม่จบหรอกครับ ไม่งั้นมีเรื่องมาเรื่อยๆ กฎหมายโน้นก็อยากทำ กฎหมายนี้ก็อยากทำ ผมก็ต้องทำตามความเหมาะสม แต่ว่า ระหว่างที่ตอนนี้ เราก็ต้องเดินหน้าทำงานไปเรื่อย อย่างงบปี 2555 พูดตามตรง อย่างที่ทำไปแล้ว เกิดการยุบสภาก่อน ถ้าคนที่ได้รับการเลือกตั้งกลับมา เขาไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ หากเขาอยากจะปรับใหม่ก็เป็นเรื่องของเขา หรือจะปรับแก้ของเก่า ถ้าเขาคิดว่ามันดีแล้ว มันก็ไม่ช้า

@ ถ้ายุบสภา แล้วเกิดปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ในช่วงที่เป็นรัฐบาลรักษาการจะมีปัญหาหรือไม่

อย่างที่ผมบอก คือถ้าจะบอกว่ามีช่วงไหนบ้างที่ไม่มีปัญหาอะไรเลย มันคงไม่มีหรอก เดี๋ยวมิ.ย.ก็มีการประชุมมรดกโลก พ.ค.ก็มีงบประมาณเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวาระ 1 คือก็พูดกันไปเรื่อยๆ แต่ผมคิดว่าจุดใดจุดหนึ่งมันก็ต้องเลือกตั้ง เหมาะสมเมื่อไหร่ก็เลือกเมื่อนั้น ถึงแม้ปล่อยให้ครบวาระ ครบวาระเดือนธ.ค. นี้ ก็ไม่ได้แปลว่าเดือนม.ค. ปีหน้า จะไม่มีเรื่องที่อาจจะต้องดูแลเป็นพิเศษ มันก็ตอบไม่ได้ ไม่มีใครตอบได้

@ เลือกตั้งครั้งหน้าประชาธิปัตย์ตั้งเป้า ส.ส.ไว้สูงถึง 200 คน คิดว่าจะมีอกาสเป็นไปได้ไหม

ตอนนี้เรา 170 กว่าแล้ว เราก็อยากได้เพิ่มพอสมควร ส่วนโอกาสผมไม่เคยพูดอยู่แล้ว เหนื่อยครับ แต่เราก็พยายามทำ เพราะตั้งเป้ามาตลอด ว่าตอนที่ผมมาเป็นหัวหน้าพรรค ก็ตั้งเป้าไว้ 120-150 ก็ได้มา 160 กว่า และก็ได้ 160 กว่า แล้วผมก็มีเขตเลือกตั้งที่ตั้งเป้าหมายไว้อีกราว 70-80 เขต เลือกตั้งซ่อมตั้งเป้าหมายไว้อีกราว 10 เขต ก็ได้มาเกือบหมด ที่พลาดไปก็มีสมุทรปราการ ปทุมธานี ผมก็จะมีลิสต์ของผมอยู่ แต่ว่าอันนี้ก็ต้องเคลียร์ไอ้ที่มีอยู่แล้วก็เสียด้วย ซึ่งก็มีบางจังหวัดแล้ว ก็มีลิสต์อยู่ว่าจังหวัดไหนต้องดูแล

@ เป้าของนายกคือเลือกตั้งครั้งหน้าประชาธิปัตย์จะได้ส.ส. 200 คน

ยังไม่ได้ตั้งเป้า

@ คะแนนในภาคเหนือ ภาคอีสาน ของประชาธิปัตย์ตอนนี้เป็นอย่างไร

เขามองต่างกัน จากโพลล์ที่เราดูทุกสำนัก ภาคเหนือเป็นภาคที่คะแนนพรรคมาเป็นอันดับหนึ่งมาพักหนึ่งแล้ว แต่คะแนนของส.ส.ในเขตเลือกตั้งยังไม่มาตามพรรค ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 ภาคเหนือเราได้คะแนนพรรคประมาณ 40% เพราะฉะนั้น มันไม่แปลกที่เราจะขยับขึ้นมา แต่ว่าภาคอีสานยังยาก เพราะเราเริ่มจากครั้งที่แล้วที่มีคะแนนพรรคประมาณ 25% จากตอนที่ผมเข้ามาเรามีอยู่ 7% ขึ้นมา 25 ตอนนี้เราคิดว่ามีประมาณ 30 กว่าๆ ซึ่ง 30 กว่าๆ การได้ ส.ส.เขตยาก

@ มีการมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยปรับเพิ่มจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จะทำให้ประชาธิปัตย์มี ส.ส.เพิ่มขึ้น

ผมว่าไปตอบอย่างนั้นมันไม่ได้ อยู่ที่ว่าประชาชนเลือกใคร แต่ถ้าประชาชนมีแนวโน้มเลือกพรรคใหญ่ๆ พรรคใหญ่ก็ได้ประโยชน์ แต่อีกด้านหนึ่ง ก็อาจเปิดช่องให้พรรคบางพรรคที่ไม่มี ส.ส.เขตเลย มี ส.ส.เข้ามาเหมือนกัน

@ หลังการเลือกตั้งครั้งหน้าประชาธิปัตย์มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้หรือไม่

ยากครับ เพราะว่าการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว มี ส.ส.ครึ่งหนึ่ง 240-250 ก็ใช่จะเป็นได้ จะเป็นได้มันต้องเกินนั้นไปอีกเยอะ ผมคิดว่าขณะนี้ ยังไม่อยู่ในฐานะที่จะไปคิดว่าจะทำได้ขนาดนั้น แต่ถ้าได้ก็ดี

@ ถ้าได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกรอบหนึ่ง ประชาธิปัตย์จะบริหารเศรษฐกิจเองหรือไม่

เดี๋ยวค่อยว่ากัน คิดอะไรไกลอย่างนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น